top of page

จุฬาฯ จับมือ บีโอแอล พัฒนาการเรียนการสอนและทักษะของนิสิตด้านนวัตกรรม

อัปเดตเมื่อ 8 ธ.ค. 2563



จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกับ บริษัท บิซิเนส ออนไลน์ จำกัด (มหาชน) หรือ BOL พัฒนาศักยภาพทางด้านการเรียนการสอน เสริมทักษะด้านนวัตกรรมแก่นิสิตจุฬาฯ ในการใช้ฐานข้อมูลเพื่อสร้างสรรค์งานวิจัยและองค์ความรู้ใหม่ๆ ตอบโจทย์ความต้องการของสังคมไทยในปัจจุบัน โดยได้จัดพิธีลงนามข้อตกลงความร่วมมือระหว่างจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและบริษัท บิซิเนส ออนไลน์ จำกัด (มหาชน) เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 3 ธันวาคม 2563 ณ ห้อง 111 อาคารมหาจุฬาลงกรณ์ โดยมี ศ.ดร.บัณทิต เอื้ออาภรณ์ อธิการบดีจุฬาฯ และนายแจ๊ค มินทร์ อิงค์ธเนศ กรรมการและประธานกรรมการบริหารบริษัท BOL ร่วมลงนามความร่วมมือในครั้งนี้



ศ.ดร.บัณทิต เอื้ออาภรณ์ อธิการบดีจุฬาฯ กล่าวว่า จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยมีเป้าหมายเชิงยุทธศาสตร์ สามประการภายใต้วิสัยทัศน์ “Innovations for Society” ได้แก่ การพัฒนาผู้นำแห่งอนาคต การสร้างนวัตกรรมและงานวิจัยคุณภาพ และการพัฒนาเพื่อความยั่งยืน ความร่วมมือในครั้งนี้จะช่วยส่งเสริมการเรียนการสอน พัฒนาทักษะด้านนวัตกรรมของนิสิต เพื่อปรับตัวให้ทันกับโลกดิจิทัลที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว ซึ่งนิสิตนอกจากจะมีความรู้ในเชิงทฤษฎีแล้ว จำเป็นต้องมีทักษะที่จะนำความรู้เหล่านั้นไปใช้ประโยชน์ต่อไปได้ด้วย ความร่วมมือในครั้งนี้เริ่มต้นที่นิสิตคณะวิศวกรรมศาสตร์ คณะเศรษฐศาสตร์ และคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี


“ข้อมูลมีส่วนสำคัญทำให้สามารถวางแผนได้อย่างถูกต้อง ฐานข้อมูลของ BOL จะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการสร้างสรรค์งานวิจัยและนวัตกรรมที่สร้างผลกระทบต่อสังคม การลงนามความร่วมมือในครั้งนี้เป็นมากกว่า MOU แต่ต้องการให้เกิดผลจริงที่จะขับเคลื่อนสังคมไทยต่อไป” อธิการบดีจุฬาฯ กล่าว


นายแจ๊ค มินทร์ อิงค์ธเนศ กรรมการและประธานกรรมการบริหาร บริษัท บิซิเนส ออนไลน์ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า บริษัท บิซิเนส ออนไลน์ จำกัด (มหาชน) ตระหนักถึงความสำคัญของการพัฒนาทักษะของนิสิตและการส่งเสริมนวัตกรรม จึงได้ร่วมมือกับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยในการสร้างสรรค์งานวิจัย องค์ความรู้ใหม่ และธรรมาภิบาลที่ดี โลกในปัจจุบันมีการเปลี่ยนแปลงมากมาย เกิดการพลิกผันจากการแพร่ระบาดของ COVID-19 ซึ่งเป็นตัวเร่งที่ทำให้ภาคธุรกิจต้องปรับตัวเพื่อให้องค์กรเดินหน้าได้อย่างต่อเนื่อง เช่นเดียวกับภาคการศึกษาที่ต้องปรับตัวเพื่อพัฒนาทักษะของนิสิตให้สอดคล้องกับทิศทางการศึกษาในโลกอนาคต อย่างน้อยนิสิตต้องมีทักษะด้านนวัตกรรม รู้จักการใช้ฐานข้อมูลเพื่อพัฒนาผลงานใหม่ๆ เพื่อตอบโจทย์การทำงานในยุคดิจิทัลที่ใช้เทคโนโลยีมาเป็นเครื่องมือสำคัญในการทำงาน




ดู 1,353 ครั้ง0 ความคิดเห็น

Comments


bottom of page